ประวัติ การก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสกลนคร จำกัด
อดิศร์ ใจดี
ผู้ก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสกลนคร จำกัด
ประวัติความเป็นมา
เริ่มจากกองทุนสวัสดิการเงินทุนสะสมสาธารณสุขสกลนคร โดยนายอดิศร์ ใจดี หัวหน้าหน่วยกามโรคสกลนครขณะนั้นเป็นผู้ก่อตั้ง ดำเนินการในลักษณะการออมและสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก สมาชิกซื้อหุ้นสะสมหุ้นเป็นรายเดือน ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ประเภทสหกรณ์การธนกิจ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2524 หมายเลขทะเบียนสหกรณ์ที่ กพธ. 73/2524 ใช้ชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสกลนคร จํากัด วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และช่วยเหลือเกื้อกูลมวลสมาชิก โดยนายแพทย์มนูญ ฤทธิสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนครในขณะนั้นและดำรงตำแหน่งประธานกรรมการพร้อมด้วยนายอดิศร์ ใจดี เป็นเลขานุการและเริ่มเปิดดำเนินงานในวันที่ 1 มกราคม 2525 เป็นต้นมา ที่ตั้งสำนักงานครั้งแรกเป็นอาคารไม้ตั้งอยู่ภายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร ระยะแรกเริ่มมีจํานวนสมาชิกทั้งหมด 676 คน รับจากข้าราชการและลูกจ้างประจําสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในจังหวัดสกลนคร สําหรับเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจได้จาก การกู้ยืมเงินจากสวัสดิการทุนสะสมสาธารณสุขสกลนคร จำนวน 160,000 บาท จึงกล่าวได้ว่า นายอดิศร์ ใจดี เป็นบิดาของสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสกลนคร ปี 2567 สหกรณ์ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 43 มี นายแสวง พิมพ์สมแดง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ชุดที่ 43 นายชวน โทอิ้ง เป็นรักษาการตำแหน่งผู้จัดการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีสินทรัพย์ 8,057,604,226.17 บาท สมาชิกสหกรณ์ 6,464 คน แยกเป็นสมาชิก 4,442 คนและสมาชิกสมทบ 2,022 คน
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่สำคัญ
สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสกลนคร จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 ดำเนินงานภายใต้ปรัชญาสหกรณ์หลักการ อุดมการณ์และวิธีการสหกรณ์ โดยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการและสมาชิกสหกรณ์ มุ่งสู่สหกรณ์เข้มแข็งและสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความเชื่อมั่นตามแนวทางสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล โดยยึดมั่นในความซื่อสัตย์และมีคุณธรรมจริยธรรมอันดีตลอดมา สรุปเป็นช่วงการพัฒนาสหกรณ์ได้ดังนี้
ช่วงที่ 1 การก่อร่างสร้างตัว (พ.ศ. 2524 – 2536)
บุกเบิกสินเชื่อสมาชิก
สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เริ่มเปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2525 จากการกู้ยืมเงินจากสวัสดิการทุนสะสมสาธารณสุขสกลนคร จำนวน 160,000 บาท มาเป็นทุนดำเนินงาน พร้อมรณรงค์ระดมหาสมาชิกและทุนดำเนินงานภายในจากทุนเรือนหุ้น เงินรับฝากจากสมาชิก โดยให้สินเชื่อแก่สมาชิกแบบแนะนำกำกับและรูปแบบการให้บริการอย่างใกล้ชิด เน้นการจ่ายสินเชื่อแก่สมาชิกเพื่อบรรเทาทุกข์ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในวงเงินกู้ที่ไม่มาก ส่วนการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกมีเพียงสวัสดิการสงเคราะห์ศพสมาชิกที่ถึงแก่กรรม
ช่วงที่ 2 พัฒนาสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง (พ.ศ.2537 – 2552)
ปีพ.ศ. 2537 สหกรณ์ ได้ย้ายสำนักงานไปที่อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น เลขที่ 1/4 ถนนสกลนคร-นาแก
ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เพื่อให้สามารถให้บริการแก่สมาชิกได้สะดวก
พัฒนาสินเชื่อแบบบูรณาการและสวัสดิการ
จากการรณรงค์ระดมทุนภายในอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้มีทุนเรือนหุ้นและเงินรับฝากจากสมาชิกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สหกรณ์สามารถเพิ่มปริมาณธุรกิจโดยขยายเพดานเงินกู้และเพิ่มประเภทเงินกู้เป็นเงินกู้พิเศษ เงินกู้สามัญและเงินกู้ฉุกเฉินพร้อมกำหนดเงินคงเหลือหลังจากหักหนี้ทุกประเภทของสหกรณ์เหลือไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 รายได้รายเดือน การดำเนินงานด้านสินเชื่อควบคู่ไปกับการควคุมการใช้เงินกู้โดยเฉพาะเงินกู้พิเศษ ดำเนินงานในช่วงนี้สหกรณ์ฯมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารและสหกรณ์ด้วยกันมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน ประกอบสมาชิกสหกรณ์มีการปรับบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ
สหกรณ์ฯจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเข้าเป็นทุนสวัสดิการทุกๆปี จึงมีทุนสวัสดิการสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้สามารถจัดสวัสดิการแก่สมาชิก สมาชิกสมทบและบุคคลในครอบครัว
ช่วงที่ 3 สหกรณ์มีมั่นคงและสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี (พ.ศ.2553 ถึง ปัจจุบัน)
ปีพ.ศ. 2553 สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหม่ เลขที่ 1901 ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยก่อสร้างอาคารคอนกรีต 2 ชั้นมีพื้นที่รองรับการปฏิบัติงานกว้างขวาง บนพื้นที่ 3.5 ไร่
รณรงค์การออมอย่างเข้มข้น
สหกรณ์ฯ จัดรณรงค์การออมแก่สมาชิกทั้งในรูปของทุนเรือนหุ้นและเงินรับฝากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินฝากมีทั้งสิ้น 12 ประเภท ด้วยผลิตภัณฑ์เงินรับฝากที่หลากหลาย ส่งผลให้สหกรณ์มีสัดส่วนทุนภายในต่อสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
สหกรณ์ฯ นำโครงสร้างการทางเงินตามเกณฑ์มาตรฐานมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารเงินทุนสหกรณ์เป็นประจำทุกเดือนต่อเนื่องหลายๆปี ทำให้สหกรณ์มีประสิทธิภาพการบริหารเงินทุนสหกรณ์ ส่งผลให้สามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จาก ร้อยละ 5.95 ลงมาเหลือ ร้อยละ 5.50 โดยไม่ส่งผลต่อปริมาณธุรกิจและผลประกอบการประจำปี เนื่องจากการบริหารเงินทุนสามารถลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพได้สูงขึ้น
อัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากจากสมาชิกสูงเพื่อเป็นการส่งเสริมการออมแก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องสหกรณ์ฯ ยังคงดอกเบี้ยเงินรับฝากจากสมาชิกในอัตราที่สูง โดยเงินฝากออมทรัพย์ ร้อยละ 1.50 และเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ร้อยละ 2.30 – 3.50 โดยไม่ได้รับลดลงตามดอกเบี้ยเงินให้กู้
ยกระดับระบบการบริหารจัดการให้ทันสมัย
สหกรณ์ฯ ได้ปรับบทบาทและกลยุทธ์การดำเนินงานครั้งสำคัญ สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์ทำงานเป็นทีม มีความซื่อสัตย์ มีสำนึกรับผิดชอบและใช้ชีวิตพอเพียง